Melbourne (of Kilmore), William Lamb, 2nd Viscount Melbourne (1779-1848)

วิลเลียม แลมบ์ เมลเบิร์นแห่งคิลมอร์, ไวส์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๒ (๒๓๒๑-๒๓๙๑)

​     ​​​วิลเลียม แลมบ์ เมลเบิร์นแห่งคิลมอร์ไวสน์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๒ เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ๓ สมัย

( ค.ศ. ๑๘๓๔, ๑๘๓๕-๑๘๓๙ และ ค.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๔๑) เป็นที่ ปรึกษาและพระสหายสนิทของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* เมลเบิร์นเป็นนักการเมืองหัวอนุรักษ์แม้จะสังกัดพรรควิก (Whig Party)* เขาดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ทางการเมือง อาทิ ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษประจำ ไอร์แลนด์ ( ค.ศ. ๑๘๒๗-๑๘๒๘) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ( ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๔) และต่อมาเป็นประธานสภาขุนนาง แม้เมลเบิร์นจะไม่ให้ความสนใจนโยบายการต่างประเทศมากนักโดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ ของลอร์ดพัลเมอร์สตัน (Lord Palmerston)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่เขาก็มีส่วนช่วยวางแนวทางการปกครองอาณานิคมของอังกฤษด้วยการส่งจอห์น จอร์จ แลมป์ตัน เดอรัม (John George Lambton Durham)* ไปเป็นผู้สำเร็จราชการและผู้ตรวจการอาณานิคมอังกฤษในอเมริกาเหนือใน ค.ศ. ๑๘๓๘ เดอรัมได้เสนอรายงานเหตุการณ์ไม่สงบในอเมริกาเหนือซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อว่า รายงานเดอรัม (Durham Report) รายงานดังกล่าวได้ให้ข้อเสนอแนะรูปแบบการปกครองอาณานิคมอังกฤษสำหรับแคนาดาและที่อื่นๆ ในอนาคต
     เมลเบิร์นเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงที่มีชื่อเสียงเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๗๙ ที่ กรุงลอนดอน เป็นบุตรของไวส์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๑ สมาชิกสภาขุนนางสังกัดพรรควิก กับเอลิซาเบท (Elizabeth) สตรีที่สวยงามฉลาดหลักแหลม เข้มแข็ง สุขุมเยือกเย็น เธอดำเนินการตามจุดมุ่งหมายในชีวิต ๒ ประการ คือ การนำพาครอบครัวให้เข้าสู่สังคมชั้นสูงและเลี้ยงดูลูก ๆ ให้มีความสุขและเฉลียวฉลาด เธอพยายามสร้างความสนิทสนมกับดัชเชสแห่งเดวอนเชียร์ (Devonshire) เจ้าชายแห่งเวลส์ [ต่อมาคือพระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๓๐)* และลอร์ดเอเกรมอนต์ (Lord Egremont) ซึ่งเชื่อกันทั่วไปว่าเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดที่แท้จริงของเมลเบิร์น มารดาซึ่งมองเห็นความเฉลียวฉลาดและความสามารถของบุตรชายได้ส่งเสริมเขาให้ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมอีตัน (Eton) และศึกษาต่อที่วิทยาลัยทรินีตีแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (Glasgow) ซึ่งเมลเบิร์นได้เป็นศิษย์ของจอห์นมิลล์ (John Mill) ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงที่สังกัดพรรควิก เมลเบิร์นเป็นนักอ่านตัวยงและสนใจวรรณคดีการละคร และศาสนา
     การที่เมลเบิร์นเป็นบุตรชายคนเล็ก เขาจึงไม่มีสิทธิได้สืบทอดบรรดาศักดิ์และทรัพย์สินของตระกูลเมื่อสำเร็จการศึกษาเขาประกอบอาชีพทางด้านกฎหมายต่อมาเมื่อพี่ชายสิ้นชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๐๕ เมลเบิร์นจึงกลายเป็นทายาทของตระกูลและได้รับสิทธิในการสืบทอดทรัพย์สมบัติรวมทั้งบรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นเหตุให้วิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนไปทันที ในปีเดียวกันที่สถานะทางสังคมสูงขึ้น เขาก็ได้สมรสกับเลดีแคโรไลน์ พอนซันบี (Lady Caroline Ponsonby) วัย ๑๗ ปี ซึ่งเขาเคยหมายปองมานานแล้ว เลดีแคโรไลน์เป็นสุภาพสตรีผู้สูงศักดิ์และเป็นธิดาเพียงคนเดียวของเฟรเดอริก พอนซันบีเอิร์ลแห่งเบสส์บะระที่ ๓ (Frederic Ponsonby, 3rd Earlof Bessborough) และเคาน์เตสแฮร์เรียต พอนซันบี (Harriot Ponsonby) รวมทั้งเป็นหลานสาวของจอร์เจียนาดัชเชสแห่งเดวอนเชียร์ ในวัยรุ่นเธอได้รับการศึกษาที่ฮานส์เพลส (Hans Place) ในกรุงลอนดอนและที่บ้านเธอเป็นคนฉลาด มีไหวพริบดี สามารถเขียนคำประพันธ์ได้ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง รวมทั้งยังวาดภาพได้ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสตรีในราชสำนัก พูดภาษาฝรั่งเศสและภาษาอิตาลีได้อย่างแคล่วคล่อง นอกจากนี้ยังมีทักษะในภาษากรีกและละติน โปรดปรานดนตรีและการละครอีกด้วย
     พิธีสมรสของคนทั้งสองโด่งดังเป็นที่กล่าวขวัญในยุคนั้น แต่ชีวิตคู่ก็ไม่ราบรื่น เลดีแคโรไลน์มักมีเรื่องระหองระแหงกับมารดาของสามี และสามีที่เฉยเมยไม่สนใจใยดีเธอมากนัก เนื่องจากทั้งสองมีปัญหาเรื่องบุตรคนแรกที่มีการพัฒนาทางสมองช้า และคนที่ ๒ เสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัย เมลเบิร์นเองก็มีปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศ นอกจากนี้เลดีแคโรไลน์ก็มีความประพฤติผิดพลาดเกี่ยวกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับลอร์ดไบรอน (Lord Byron) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๑๓ ลอร์ดไบรอนเป็นกวีที่มีชื่อเสียงและเป็นบุคคลที่มีเกียรติในสังคม ทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทกับมารดาของเมลเบิร์นด้วย เลดีแคโรไลน์เป็นผู้แต่งนวนิยายเรื่อง Glenarvon นวนิยายเชิงอัตชีวประวัติเล่มแรกของเธอที่พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ และเป็นนวนิยายที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะบรรยายถึงการเสี่ยงภัยที่ได้ลอบรักแม้เมลเบิร์นจะรับรู้แต่เมื่อนวนิยายเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ก็ทำให้เขาได้รับความอับอายมาก เธอยังประพันธ์หนังสือร้อยแก้ว ๒ เล่มและหนังสือนวนิยายอีก ๒ เล่มที่ไม่บอกชื่อผู้แต่ง ใน ค.ศ. ๑๘๒๔ เลดีแคโรไลน์ได้เห็นขบวนแห่ศพของลอร์ดไบรอนโดยบังเอิญซึ่งทำให้เธอได้รับความกระทบกระเทือนทางใจอย่างรุนแรง จนกระทั่งมีข่าวลือว่าเธอวิกลจริตใน ค.ศ. ๑๘๒๕ เธอแยกทางกับเมลเบิร์นและถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๘๒๘ ส่วนบุตรชายก็สิ้นชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๒๖
     หลังจากแยกทางกับเลดีแคโรไลน์ เมลเบิร์นได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนรัฐบาลอังกฤษประจำไอร์แลนด์ในช่วงเวลาดังกล่าวเขามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับเลดีแบรนเดนแห่งดับลิน (Lady Branden of Dublin) เขาถูกสามีของเธอฟ้องด้วยข้อกล่าวหาว่า "ลอบเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น" และเรียกค่าเสียหายด้วย แม้เอาผิดไม่ได้แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองต้องสิ้นสุดลงต่อมาเมื่อเมลเบิร์นได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็มีเรื่องฟ้องร้องอีกโดยถูกเรียกค่าเสียหาย ๑,๔๐๐ ปอนด์ เนื่องจากมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับแคโรไลน์ นอร์ตัน (Caroline Norton) ซึ่งเป็นนักประพันธ์และหลานสาวของเชอร์ริดัน (Sheridan) นักเขียนบทละคร แต่เมลเบิร์นก็ชนะคดี ต่อมา ชาลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) นักประพันธ์คนสำคัญของอังกฤษได้นำเรื่องดังกล่าวมาเขียนล้อเลียนในนวนิยายเรื่อง The Picwick Papers เมลเบิร์นรอดพ้นการพิจารณาคดีโดยไม่กระทบกระเทือนฐานะของเขาเลย ส่วนแคโรไลน์ นอร์ตันกลับกลายเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจและหมดสิทธิที่จะเลี้ยงดูบุตร โดยต้องยกให้เป็นภาระของอดีตสามีที่ไม่น่านับถือ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเธอประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้มีพระราชบัญญัติการคุ้มครองเด็กทารก (Infant Custody Bill) เพื่อให้สตรีมีสิทธิในการดูแลและคุ้มครองเด็กมากขึ้น แม้ลอร์ดเมลเบิร์นกับแคโรไลน์จะไม่สนิทสนมฉันชู้สาวอีกต่อไปก็ตาม แต่เขาและเธอก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และในยามที่เขามีความทุกข์ เธอก็จะช่วยปลอบใจเขา
     หลังพี่ชายเสียชีวิต เมลเบิร์นก็เข้าสู่อาชีพการเมืองด้วยความราบรื่น เขาเป็นศิษย์ของชาลส์ เจมส์ ฟอกซ์ (Charles James Fox)* นักการเมืองคนสำคัญของพรรควิกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ที่มีศรัทธาทางการเมืองในระบบรัฐสภา ขันติธรรมทางศาสนา การกำหนดขอบเขตอำนาจของกษัตริย์ สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล และเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม เมลเบิร์นก็ยังมีความคิดแบบอนุรักษนิยม เพราะไม่เห็นด้วยกับฝ่ายหัวรุนแรงของพรรควิกซึ่งกำลังก่อตัวในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพราะเขาเชื่อมั่นในระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นขุนนาง (aristocratic oligarchy) มากกว่าระบอบ ประชาธิปไตย ทั้งเคลือบแคลงประเด็นเรื่องความสามารถของคนที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นโดยผ่านนโยบายของรัฐบาล เมลเบิร์นมักไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นง่าย ๆ และหากเชื่อมั่นอะไรแล้วก็ยึดติดอย่างเหนียวแน่น ยืนหยัดเพื่อการศาสนา การศึกษา สังคมและการปฏิรูปรัฐสภา
     ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ เมลเบิร์นได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนอร์แทมป์ตัน (Northampton) และของฮาร์ตฟอร์ด (Hertford) ใน ค.ศ. ๑๘๑๙ แต่อีก ๑๐ ปีต่อมา เขาถอนตัวออกจากกิจกรรมทางการเมืองและลาออกใน ค.ศ. ๑๘๒๖ เพราะมีปัญหาครอบครัวและขัดแย้งกับฝ่ายปีกซ้ายในพรรคเขาหันมาคบค้าสมาคมกับจอร์จ แคนนิง (George Canning)* และวิลเลียม ฮัสคิสสัน (William Huskisson)* นักการเมืองสังกัดพรรคทอรี (Tory) หรือพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* มากขึ้น ต่อมาเมื่อจอร์จแคนนิงได้เป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๘๒๗ เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐบาลอังกฤษประจำไอร์แลนด์ เมื่อบิดาของเขาถึงแก่อนิจกรรมใน ค.ศ. ๑๘๒๘ เขาก็ดำรงตำแหน่งไวส์เคานต์เมลเบิร์นต่อจากบิดาและได้เป็นสมาชิกสภาขุนนาง ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยใน ค.ศ. ๑๘๓๐ เมื่อพรรควิกได้เป็นรัฐบาลโดยมีลอร์ดเกรย์ (Lord Grey)* เป็นนายกรัฐมนตรี เขาต้องเผชิญกับความเคลื่อนไหวที่ รุนแรงของสมาชิกสหพันธ์กรรมกรที่เรียกร้องให้มีการแบ่งปันที่ดิน เขามีศรัทธาอย่างแรงกล้าในรัฐบาลของชนชั้นสูง และสนใจในการปฏิรูปเศรษฐกิจของชนชั้นกลางเพียงเล็กน้อย เมลเบิร์นนิยมการประนีประนอม เมื่อลอร์ดเกรย์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๓๔ เขาจึงยังเป็นที่นิยมและได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี
     พระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ (William IV ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๗) ไม่ทรงให้การสนับสนุนเมลเบิร์นเท่าใดนัก เขาจึงลาออกจากตำแหน่งในปลาย ค.ศ. ๑๘๓๔ และพรรคทอรีก็ได้เป็นรัฐบาล โดยมีรอเบิร์ต พีล (Robert Peel)* เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง ๒-๓ เดือนเท่านั้น พรรคทอรีก็แพ้การเลือกตั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๓๕ เมลเบิร์นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๕ แต่รัฐบาลผสมของเขาก็ขาดเสถียรภาพ ในช่วงสมัยนี้มีการพยายามออกพระราชบัญญัติภาษีศาสนาในไอร์แลนด์ (Ireland Tithe Bill) เพื่อปฏิรูปการเก็บภาษีอากรของพวกคาทอลิกซึ่งถูกบังคับให้จ่ายเงินสนับสนุนวัดนิกายแองกลิคันในไอริชพระราชบัญญัติการปกครองเมือง (Municipal Corporation Act ค.ศ. ๑๘๓๕) และอื่น ๆ นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๓๖ ก็มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการแต่งงานของผู้นับถือศาสนานิกายต่างกัน นอกจากนี้ มีพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายช่วยเหลือคนจน (Poor Law Amendment Act) แม้เมลเบิร์นจะสนับสนุนฝ่ายหัวรุนแรงในการเปิดระบบการไปรษณีย์สู่มวลชน แต่เขาก็สนับสนุนการปราบปรามการเคลื่อนไหวของขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism)* ที่เรียกร้องให้รัฐสภายอมรับกฎบัตรแห่งประชาชน (People's Charter) และแนวความคิดด้านประชาธิปไตยอื่น ๆ เมลเบิร์นไม่สนใจงานด้านการต่างประเทศมากนักและมักปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลอร์ดพัลเมอร์สตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดำเนินนโยบายหลีกเลี่ยงการทำสงครามและไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เมลเบิร์นก็มีบทบาทสำคัญในการหลีกเลี่ยงการทำสงครามกับฝรั่งเศสซึ่งสนับสนุนการลุกฮือของอียิปต์เพื่อต่อต้านตุรกีใน ค.ศ. ๑๘๓๙
     เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระราชภาติยะในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นประมุขของสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๗ นั้น พระองค์มีพระชนมายุเพียง ๑๘ พรรษา ซึ่งเป็นระยะที่เมลเบิร์นดำรงตำแหน่งนายก รัฐมนตรีและอยู่ในวัย ๕๘ ปี ในปีเดียวกันนี้ มีการตั้งชื่อเมืองเมลเบิร์นในออสเตรเลียเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาด้วยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงได้รับการฝึกทักษะทางด้านการเมืองจากเมลเบิร์น ทรงสนิทสนมกับเมลเบิร์นมากและทรงงานร่วมกับเขาอย่างใกล้ชิดวันละ ๖ ชั่วโมง โดยเมลเบิร์นทำหน้าที่ในส่วนนายกรัฐมนตรีและเป็นราชเลขานุการในพระองค์ เขามีห้องพักส่วนตัวในพระราชวังวินเซอร์ด้วย เมลเบิร์นถวายความรู้ทางด้าน ประวัติศาสตร์ ศาสนา การเมืองและการวางพระองค์ซึ่งทรงเรียนรู้อย่างขึ้นพระทัยและบันทึกในสมุดส่วนพระองค์ เมลเบิร์นทำให้พระองค์มีความเชื่อมั่นในองค์ เองยึดมั่นในระบอบกษัตริย์และความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเมลเบิร์นและพระองค์ถูกวิพากษ์โจมตี เนื่องจากพระองค์ทรงกล่าวหานางพระกำนัลของพระมารดาซึ่งเป็นสาวโสดว่าตั้งครรภ์ทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว แต่ภายหลังปรากฏว่าเป็นเพียงเนื้องอกในท้อง
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๙ เกิด "วิกฤตการณ์ห้องนอน" (Bedchamber Crisis) เนื่องจากรัฐบาลพรรควิกเกิดความแตกแยก เมลเบิร์นจึงพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอเบิร์ต พีล พรรคทอรีซึ่งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องการเปลี่ยนนางพระกำนัลในห้องพระบรรทมจากภริยาและบุตรสาวของสมาชิกสภาสามัญสังกัดพรรควิกเป็นพรรคทอรี แต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียไม่ทรงเห็นชอบด้วย พีลจึงลาออกจากตำแหน่ง สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงสนับสนุนให้เมลเบิร์นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่ปัญหาความแตกแยก ภายในพรรคก็ยังคงดำเนินอยู่เพราะขัดแย้งกันว่าด้วยปัญหาการลงคะแนนลับในการออกเสียงเลือกตั้ง การปฏิรูปกฎหมายข้าว (Corn Law)* ปัญหาไอร์แลนด์นโยบายอาณานิคมและการต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสมัยนี้ เขาสนับสนุนการแก้ไขพระราชบัญญัติช่วยเหลือคนจน (Poor Law)
     ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซักซ์โคบูร์ก (Albert of Saxe-Coburg) เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๐ และพระองค์ก็ทรงพึ่งพระสวามีในการบริหารราชการแผ่นดินอีกทั้งก็ทรงเริ่มไม่โปรดเมลเบิร์นซึ่งมักหลงตัวเองและมักรบกวนพระทัยในเรื่องการเงินเมลเบิร์นพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปใน ค.ศ. ๑๘๔๑ เนื่องจากสุขภาพอ่อนแอ พรรคทอรีชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลัง ค.ศ. ๑๘๔๑ เมลเบิร์นไม่มีบทบาททางการเมืองแต่อย่างใด
     วิลเลียม แลมบ์ เมลเบิร์นแห่งคิลมอร์ ไวส์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๒ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตกเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๔๘ ขณะอายุ ๖๙ ปี ท่ามกลางเพื่อน ๆ และสมาชิกในครอบครัวที่บร็อกเกต (Brocket) ใกล้ ๆ แฮตฟีลด์ (Hatfield) มณฑลฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ (Hertfordshire) เมลเบิร์นไม่มีทายาทเฟรเดอริก เจมส์ แลมบ์ (Frederick James Lamb) น้องชายได้สืบตำแหน่งไวส์เคานต์แทน.



คำตั้ง
Melbourne (of Kilmore), William Lamb, 2nd Viscount Melbourne
คำเทียบ
วิลเลียม แลมบ์ เมลเบิร์นแห่งคิลมอร์, ไวส์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๒
คำสำคัญ
- วิลเลียมที่ ๔, พระเจ้า
- พีล, เซอร์รอเบิร์ต
- ฮาร์ตฟอร์ดเชียร์, มณฑล
- พระราชบัญญัติภาษีศาสนาในไอร์แลนด์
- พรรคทอรี
- พระราชบัญญัติการปกครองเมือง
- พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายช่วยเหลือคนยากจน
- พรรคอนุรักษนิยม
- ฟอกซ์, ชาลส์ เจมส์
- แคนนิง, จอร์จ
- ขบวนการชาร์ทิสต์
- พอนซันบี, เคาน์เตสแฮร์เรียต
- พระราชบัญญัติการคุ้มครองเด็กทารก
- กฎบัตรแห่งประชาชน
- นอร์ตัน, แคโรไลน์
- ดิกเกนส์, ชาลส์
- แบรนเดนแห่งดับลิน, เลดี
- วิกตอเรีย, สมเด็จพระราชินีนาถ
- เอเกรมอนต์, ลอร์ด
- มิลล์, จอห์น
- พอนซันบี, เลดีแคโรไลน์
- พัลเมอร์สตัน, ลอร์ด
- รายงานเดอรัม
- พรรควิก
- พอนซันบี, เฟรเดอริก เอิร์ลแห่งเบสส์บะระที่ ๓
- เดวอนเชียร์, ดัชเชสแห่ง
- เดอรัม, จอห์น จอร์จ แลมป์ตัน
- แลมบ์, วิลเลียม เมลเบิร์นแห่งคิลมอร์ ไวส์เคานต์เมลเบิร์นที่ ๒
- ฮัสคิสสัน, วิลเลียม
- จอร์จที่ ๔, พระเจ้า
- กฎหมายข้าว
- พระราชบัญญัติช่วยเหลือคนจน
- อัลเบิร์ตแห่งซักซ์โคบูร์ก, เจ้าชาย
- วิกฤตการณ์ห้องนอน
- แลมบ์, เฟรเดอริก เจมส์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1779-1848
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๒๑-๒๓๙๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี ศิริจันทพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf